ในยุค 4.0 เราจะมีพฤติกรรมที่จะใช้ Google เป็นแหล่งสืบข้อมูลแรก ก่อนที่จะถามเพื่อน ถามญาติ หรือ หาข้อมูลจากหนังสือ เพราะข้อมูลถูกสืบค้นได้แบบ realtime เพียงยก Smartphone ขึ้นมาปัดเท่านั้นเอง ถือว่าสะดวกและง่ายมากๆ
ทุกวันนี้สินค้าและบริการถูกเปรียบเทียบ วิจารณ์ และ Review เป็นข้อมูลก้อนใหญ่ๆ ให้เราประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อ
ก็น่าคิดเหมือนกันว่าการมาพบหมอ หรือ หมอฟัน คนไข้จะมี พฤติกรรม 4.0 เหมือนการเลือกสินค้าและบริการอื่นๆ หรือไม่ ? มีงานวิจัยจากสมาคมแพทย์บางแห่งที่อเมริกา พบว่าคนไข้มีพฤติกรรมที่มองว่าหมอเป็นความเห็นที่สอง (second opinion) หลังจาก Google พูดง่ายๆว่า Google เป็น First opinion และหมอกลายเป็น second opinion
การมีซึ่ง Google ในยุคนี้ ซึ่งเป็นอะไรที่คนไข้เข้าถึงได้ง่ายกว่าการนัดพบหมอ ย่อมทำให้คนไข้ได้รับข้อมูลและองค์ความรู้มาชุดหนึ่ง ซึ่งตอบไม่ได้ว่าเป็นผลดี หรือ ไม่ดีเพียงใด เพราะยังมีปัจจัยทั้งเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลและวิจารณ์ญาณของคนไข้
ถ้าเรามองในมุมของตัวหมอ …. หมอสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้สูงกว่า Google ได้เพียงใด ? หรือจะต้องเพิ่มศักยภาพใด หรือไม่ ?
ความน่าเชื่อถือเป็นอะไรที่ค่อนข้างส่วนบุคคล จึงอยู่ที่ว่าหมอคนนั้นเป็นใคร มีชื่อเสียงอย่างไร และปฎิบัติอย่างไรต่อคนไข้ หมอบางคนไม่ว่าจะพูดอะไรคนไข้ก็เชื่อ เพราะคนไข้รักและเคารพคุณหมอมากๆ หมอหลายท่านก็เป็นหมอของคนไข้อย่างแท้จริง แต่หมอบางท่าน….คนไข้อาจไม่รู้สึก Trust อะไรมากมาย อาจจะแค่รับฟังแล้วขอกลับบ้านไปคิดดูก่อนเพื่อจะค้น Google ดูอีกทีค่อยตัดสินใจ
สิ่งที่คุณหมอจะต้องมีก็คงไม่พ้นกับอัพเดทวิชาความรู้ให้ทันสมัย การที่หมอรู้ช้ากว่าคนไข้ย่อมดูไม่น่าเชื่อถือ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือทักษะการสื่อสาร (verbral & Non verbral communication) เพราะถ้าคุณหมอขาดทักษะการสื่อสารที่ดี คนไข้ก็อาจจะเชื่อ Google มากกว่าก็ได้ เพราะอย่างน้อย Google ก็ไม่เคยทำให้คนไข้เสียใจ เช่น พูดจาขับไล่คนไข้ให้ไปตรวจที่อื่น หรือกล่าวประโยคที่ไม่เหมาะสมที่จะพูดออกมาในฐานะคนเป็นหมอ เช่น “ที่นี่ไม่ใช่เซเว่น”
เราต้องยอมรับว่าโลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนไป และพฤติกรรมของคนไข้ก็เปลี่ยนไปตาม หน้าที่ของหมอคือรู้ให้ได้ว่าคนไข้คิดอะไร รู้สึกอย่างไร และต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารให้สอดคล้องกัน คุณหมอที่ขาดทักษะการสื่อสารจะสร้างความน่าเชื่อถือได้ยากในยุค 4.0 นี้
หน้าที่ของการบริการของคุณหมอไม่ใช่แค่การให้การรักษาที่ดีที่สุด แต่จะต้องสื่อสารและเข้าใจคนไข้อย่างนุ่มลึกและคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ของหมอ – คนไข้ที่ดี